วันที่: 27-08-2013
ที่บูชาพระ (หิ้งพระหรือโต๊ะหมู่บูชา)ประกอบด้วย
1.พระพุทธรูป
2.กระถางธูป
3.เชิงเทียนอย่างน้อย 1 คู่
4.แจกันดอกไม้อย่างน้อย 1 คู่
พระพุทธรูปนิยมเป็นพระปางมารวิชัย หรือปางชนะมาร เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้พยายามเอาชนะมารคือความโลภ ความโกรธ ความหลงเสียบ้าง นอกจากนี้ยังอาจประดิษฐานพระประจำวันเกิดของตนเพื่อความเป็นศิริมงคลด้วย แต่ไม่ว่าจะเป็นปางอะไร พระพุทธรูปก็เป็นเพียงรูปเปรียบแทนคุณงามความดีของพระพุทธองค์ ผู้ทรงมีปัญญาคุณ พระกรุณาธิคุณ เป็นเครื่องเตือนใจให้ชาวพุทธตระหนักถึงการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของท่าน นี่คือจุดประสงค์ที่แท้จริงของการสร้างพระ ดังนั้น มื่อเราไหว้พระก็อย่าหลงติดอยู่แค่ทองเหลืองทองคำหรืออิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์ แต่เราไหว้ที่คุณธรรมความดีของพระพุทธเจ้า แล้วสำรวจตนเองว่าเราประพฤติดีมีคุณธรรมมากน้อยแค่ไหน จะแก้ไขและพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้อย่างไร จึงถือว่าบูชาพระได้"ถึงแก่น" ไม่ใช่เอาแต่กราบไหว้ร้องขอนี่นั่น ขอให้พระช่วย"ดลบันดาล"ให้ได้ในสิ่งที่เราต้องการ แบบนี้หาใช่พุทธศาสนาไม่ เพราะตามหลักศาสนาพุทธไม่มีคำว่า"ดลบันดาล"มีแต่คำว่า"หลักกรรม" คือทำดีได้ดี อยากได้ดีต้องทำด้วยตัวเอง ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งแห่งตน
สถานที่ตั้งบูชาพระ นิยมตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเพราะเป็นทิศที่พระพุทธเจ้านั่งตรัสรู็ในคืนเดือนเพ็ญ แต่หากไม่สะดวก จะหันไปทางทิศใดก็ได้ บางคนถือโชคลางไม่หันไปทางทิศตะวันตก แต่ตามแนวทางพุทธศาสนาแล้วมีทิศอยู่ด้วยกัน 6ทิศเท่านั้นคือทิศเบื้องหน้า(หมายถึงบิดามารดา) ทิศเบื้องหลัง(บุตร ภรรยา สามี) ทิศเบื้องขวา(ครูอาจารย์) ทิศเบื้องซ้าย(มิตรสหาย) ทิศเบื้องบน(สมณพราหมณ์ ปัจจุบันคงหมายถึงหัวหน้า หรือผู้มีตำแหน่งสูงกว่า) ทิศเบื้องล่าง(ลูกจ้างคนใช้)
ที่บูชาพระนิยมจัดไว้ทางหัวนอนและควรอยู่ในที่สูง ยิ่งเป็นห้องพระได้ก็ยิ่งดี และควรจัดที่ให้แข็งแรงมั่นคง คนที่เข้าไปในห้องพระทุกครั้งควรสงบสำรวมและแสดงความเคารพด้วย
|
|
|